ใครที่มาเที่ยวตัวเมืองสงขลา สถานที่ห้ามพลาดอีกสถานที่หนึ่ง นั่นก็คือ “เขาตังกวน” เราจะไปเที่ยวชมบนยอดเขาตังกวน ชมทิวทัศน์แบบ 360 องศา และสักการะพระธาตุเจดีย์หลวง
เขาตังกวน สามารถขึ้นได้ 2 ทาง คือ ขึ้นเขาตังกวนโดยลิฟท์ และเดินขึ้น ซึ่งทางขึ้นอยู่ฝั่งตรงกันข้ามด้านทิศตะวันตก แต่คนส่วนใหญ่จะใช้บริการลิฟท์มากกว่า
พูดถึงเขาตังกวน ก็ไม่วายที่ต้องนึกถึงเจ้าพวงฝูงลิง ซึ่งเขาตังกวน เป็นที่อาศัยของฝูงลิงจำนวนมาก เวลาขับรถผ่านหน้าเขาตังกวน โปรดขับช้าๆ เพราะเจ้าลิงมักจะเดินข้ามถนนกัน จะมีป้ายบอกให้ขับรถระวังลิงด้วย
ดูพวกลิงหยอกเล่นกันสนุกสนาน แต่ขอบอกเลยว่าเจ้าลิงพวกนี้ร้ายไม่ใช่ย่อยเลย ใครถือขวดน้ำ ของกินผ่านเจ้าพวกนี้ รับรองต้องมีการฉกชิงของกินกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นระมัดระวังตัวเองด้วยนะ
สถานีลิฟท์เขาตังกวน เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 น. จนถึง 18.30 น.
อัตราค่าธรรมเนียม ผู้ใหญ่ 30 บาท และเด็ก 20 บาท (ส่วนสูงต่ำกว่า 120 เซนติเมตร)
ยัยตัวร้าย เลือกที่จะขึ้นลิฟท์ดีกว่า และวันนี้ชวนเด็กๆ แถวบ้านมาเที่ยวตัวเมืองสงขลาด้วย เดี่ยวเด็กๆ จะงอแงซะก่อน เลยขึ้นลิฟท์สะดวกดี อ้อ! ลืมบอกไปว่า อัตราค่าธรรมเนียมของลิฟท์รวมทั้งขาขึ้น และขาลงแล้ว ตอนลงเก็บตั๋วให้ดีๆ อย่าทำหายล่ะ มิอย่างนั้นต้องเดินลงมาเองนะเออ
ทางขึ้นอีกทางหนึ่ง บันไดพญานาค ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นฝั่งตรงข้ามลิฟท์โดยสาร บันไดนี้สามารถเดินไปถึงยังศาลาพระวิหารแดง รวมบันไดจำนวน 145 ขั้น
เราขึ้นลิฟท์ใช้เวลาประมาณ 5 นาที ก็มาถึงยอดเขาตังกวนแล้วจ้า
บนยอดเขาตังกวนเป็นประดิษฐานโบราณสถานที่สำคัญ เริ่มจาก “ประภาคาร”
ประภาคาร
สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2439 ครั้งพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดให้กรมทหารเรือทำเครื่องหมายประดับประกอบตัวโคม และส่งแบบฐานปูนให้ข้าหลวงออกมาจัดการก่อสร้างประภาคารตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบริเวณที่พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) และพระยาชลยุทธโยธิน เป็นผู้เลือกสถานที่ ประภาคารนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2440
สถานีควบคุมระบบสารสนเทศเครื่องหมายทางเรือ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
ประวัติความเป็นมาของ ประภาคารฟารอส จำลอง
โครงสร้างของสถานีควบคุมติดตามระยะไกล และสารสนเทศเครื่องหมายทางเรือนี้ ได้จำลองแบบมาจากโครงสร้างของประภาคาร “ฟารอส” ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน และถือได้ว่าเป็นประภาคารแห่งแรกของโลก เรื่องราวของประภาคารฟารอส เริ่มต้นพร้อมกับการก่อตั้งนครอเล็กซานเดรีย โดยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ในปี 332 ก่อนคริสตกาล ช่วงนั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ขยายอาณาจักรไปทั่วทิศ และสร้างเมืองใหม่มากมาย ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 17 แห่งที่มีชื่อเหมือนกันว่าอเล็กซานเดรีย ภายหลังเมืองเหล่านี้ค่อยๆ หายไป เหลือแต่เมืองอเล็กซานเดรียในอียิปต์ที่อยู่ยงคงกระพันข้ามศตวรรษมาจนถึงปัจจุบัน หลังพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคต ในปี 323 ก่อนคริสตกาล ผู้นำใหม่คือ ปโตเลมี โซเตอร์ ขึ้นครองอียิปต์ และบริหารประเทศรุ่งเรืองร่ำรวยมาก ระหว่างนั้นพระเจ้าปโตเลมีเห็นว่า เมืองจะต้องมีกลไกที่จะควบคุมการจราจรทางน้ำ และมีสัญลักษณ์ของเมือง ดังนั้น ในปี 290 ก่อนคริสตกาล จึงดำริให้สร้างประภาคาร ซึ่งใช้เวลาสร้างอยู่นาน 20 กว่าปี กลายเป็นประภาคารแห่งแรกของโลก และเป็นอาคารที่สูงสุดรองจากมหาพิรามิด ผู้ออกแบบประภาคารนี้มีชื่อว่า โวสตราตีส แห่งนิดอส ซึ่งอยากจะให้ใช้ชื่อตนเองเป็นชื่อของอาคาร แต่พระเจ้าปโตเลมีที่ 2 พระโอรสของพระเจ้าปโตเลมีที่ 1 ซึ่งครองราชย์ในเวลาต่อมา ไม่เห็นด้วย และต้องการให้ใช้นามของพระองค์ นายช่างโวสตราตีส จึงใช้เล่ห์เขียนชื่อตนเองไว้ส่วนในแล้วฉาบด้วยชื่อกษัตริย์ เมื่อเวลาผ่านไปพลาสเตอร์หลุดลอกจึงปรากฏชื่อโซสตราตีสในที่สุด และมีบันทึกไว้ว่าประภาคารแห่งนี้เป็นหนึ่งในเจ็ด สิ่งมหัศจรรย์ของโลกเมื่อครั้งในอดีต
อย่างไรก็ตาม ชื่อที่ผู้คนทั่วไปเรียกประภาคารแห่งนี้ก็คือ “ฟารอส” ชื่อของเกาะที่ประภาคารตั้งอยู่ ซึ่งคำว่า ฟารอสนี้ ภายหลังกลายเป็นรากศัพท์ของภาษาฝรั่งเศส อิตาเลี่ยน สเปน และโรมาเนีย ที่หมายถึง ประภาคารพอดิบพอดี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ประภาคารฟารอสน่าจะสูง 450 – 600 ฟุต ประภาคารฟารอสตระหง่านอยู่ 1,500 ปีก่อนจะถล่มทลายลงก้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เชื่อว่าจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายครั้ง เริ่มจากปี 365 ก่อนคริสตกาล ตามด้วย ค.ศ. 1303 และพังครืนในปี ค.ศ. 1326
จากประภาคารฟารอส จำลอง จะมีทางเดินลงไปชมวิวทะเลสาบสงขลา สามารถมองวิวทิวทัศน์ได้แบบพาโนรามา 360 องศาได้เลย
เมื่อเราหันหน้าไปยังทะเล ทางด้านขวามือของเราจะมองเห็นโรงแรมบีพี สมิหลาบีชฯ
ตรงด้านหน้าของเราจะเจอ 2 เกาะ ซึ่งคือ เกาะหนู และเกาะแมว
เกาะที่อยู่ใกล้ชายฝั่งมากกว่า คือ เกาะหนู
อีกเกาะที่อยู่ไกลออกไปจากฝั่งชายหาด คือ เกาะแมว
ตำนานเล่าขานของ เกาะหนู เกาะแมว เขาตังกวน และหาดทรายแก้ว
นานมาแล้วมีพ่อค้าจีนคนหนึ่งคุมเรือสำเภาเดินทางแถบชายทะเลจากเมืองจีนมาถึงเมืองสงขลา เมื่อขายสินค้าจนหมดแล้ว ก็จะซื้อสินค้ากลับไปขายเมืองจีน ระหว่างที่เดินซื้อสินค้าอยู่นั้น พ่อค้าได้เห็นหมากับแมวคู่หนึ่งมีรูปร่างหน้าตาน่าเอ็นดู จึงขอซื้อหมากับแมวคู่นั้นเอาลงเรือไปด้วย ฝ่ายหมากับแมวเมื่อลงไปอยู่ในเรือนานๆ ก็เกิดความเบื่อหน่าย และอยากกลับไปอยู่บ้านที่สงขลา จึงปรึกษากันหาวิธีการที่จะกลับบ้าน หมาได้บอกกับแมวว่า พ่อค้าเรือสำเภานั้นมีดวงแก้ววิเศษสำหรับกันจมน้ำ หากใครได้ไว้จะว่ายน้ำไปไหนๆ ก็ไม่จมน้ำ แมวจึงคิดอุบายที่ได้แก้ววิเศษนั้น โดยไปข่มขู่หนูให้ขโมยแก้ววิเศษของพ่อค้ามาให้ โดยที่หนูขอหนีขึ้นฝั่งไปด้วย ครั้นเรือเดินทางมาถึงเมืองสงขลาอีกครั้งหนึ่ง หนูก็ลอบเข้าไปลักเอาดวงแก้วของพ่อค้ามา โดยอมเอาไว้ในปากแล้วทั้งสามหนีลงจากเรือว่ายน้ำจะไปขึ้นฝั่งหน้าเมืองสงขลา ขณะที่ว่ายน้ำมาด้วยกัน หนูซึ่งว่ายน้ำอยู่ข้างหน้า ก็นึกขึ้นได้ว่าดวงแก้วที่ตนเอาไว้ในปากนั้นมีค่ามหาศาล เมื่อถึงฝั่งหมากับแมวก็คงจะแย่งเอาไป จึงคิดที่จะหนีหมากับแมวขึ้นฝั่งไปตามลำพัง จะได้ครอบครองดวงแก้วเป็นสมบัติของตนตลอดไป แต่แมวซึ่งว่ายน้ำตามหลังหนูมาก็คิดอย่างเดียวกับหนูคิด ก็ว่ายน้ำตรงรี่ไปหาหนู ฝ่ายหนูเห็นแมวตรงเข้ามาก็ตกใจ นึกว่าแมวเข้ามาจะตะปบ จึงว่ายน้ำหนีสุดแรง และไม่ทันระวังตัวดวงแก้ววิเศษที่อมไว้ในปากก็ตกลงจมหายไปในน้ำ เมื่อดวงแก้วจมน้ำไปแล้ว ทั้งหนู และแมว ต่างก็หมดแรงไม่อาจจะว่ายน้ำต่อไปได้ สัตว์ทั้งสองจึงจมน้ำตายกลายเป็นเกาะหนู เกาะแมว อยู่ที่อ่าวหน้าเมืองสงขลา ส่วนหมาก็ตะเกียกตะกายว่ายน้ำไปจนถึงฝั่งด้วยความเหน็ดเหนื่อยหมาจึงขาดใจตายเป็นหินเรียกว่า เขาตังกวน อยู่ริมอ่าวสงขลา ส่วนตรงแก้ววิเศษที่หล่นจากปากของหนูก็แตกแหลกละเอียดเป็นหาดทราย เรียกกันว่า หาดทรายแก้ว อยู่ทางด้านเหนือของแหลมสนยื่นออกไปในอ่าวสงขลา
ทางด้านซ้ายมือ จะเห็นสะพานยาวยื่นลงไปในทะเล และหาดทรายแก้ว ทอดตัวยาวตลอดริมชายฝั่ง
บริเวณเดียวกันเราเดินมาทางซ้ายมือ เราจะเห็นวิวเมืองสงขลา และภูเขาฝั่งทางโน้นจะเป็นเขาแดง เราสามารถไปยังเขาแดงโดยไปทางแพขนานยนต์
พระธาตุเจดีย์หลวง
สร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี เดิมชื่อว่า “เมืองตังอู” เจ้าเมืองตังอูชาวบ้านเรียกว่า “พ่อเมืองตังอู” มีพระราชครู ชื่อว่า “ปลอด” พ่อเมืองตังอู เป็นผู้สร้างเจดีย์พระธาตุ ให้พระราชครูปลอด เป็นผู้จัดการก่อสร้าง เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ปีเถาะ ตรงกับ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 1853 ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี นับจาก พ.ศ.2555 นับอายุได้ 702 ปี ภายในเจดีย์พระธาตุบรรจุ แก้วสารพัดนึก ลักษณะกลม ขาวใส ขนาดเท่าขวดโหล บรรจุเมื่อวันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ปีจอ ตรงกับ วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 1861 เพื่อให้ความเจริญรุ่งเรืองแผ่ไปทั่วเมืองตังอู ผู้ดูแลเจดีย์พระธาตุตลอดมา คือ “เจ้าเมืองตังอู”
พระธาตุเจดีย์หลวง
พระเจดีย์หลวง ตั้งอยู่บนยอดเขาตังกวน เป็นพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง สันนิษฐานว่า เป็นพระเจดีย์โบราณที่มีมานาน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานความเป็นมาที่ชัดเจน จนต่อมาในปี พ.ศ. 2402 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองสงขลา หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2409 จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินหลวง 37 ชั่ง ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่กว่าของเก่า และในครั้งนั้น เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ได้สร้างคฤห์ไว้ที่ฐานพระเจดีย์ และต่อเติมเก๋ที่มุมกำแพง พระเจดีย์หลวงเป็นพระเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของสงขลา จึงมีการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด ในปี พ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องสักการะบูชาประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์หลวง เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาของชาวเมืองสงขลาสืบต่อไป
จะมีพิธีห่มผ้าองค์เจดีย์ ประเพณีลากพระ และตักบาตรเทโว ซึ่งจัดเป็นประจำในเดือนตุลาคมของทุกปี
วิธีการบูชาพระ
เริ่มสักการะจากซุ้มหมายเลข 1 ถึง 6 ตามลำดับ เดินวนขวาตามเข็มนาฬิการอบองค์เจดีย์ ไหว้ธูปซุ้มละ 3 ดอก (มีทั้งหมด 6 ซุ้ม) จุดเทียนไว้ที่ซุ้มหมายเลข 1 ถวายดอกไม้องค์พระธาตุเจดีย์หลวงไว้ที่ซุ้มหมายเลข 6 ปิดทองพระพุทธรูปองค์ละ 1 แผ่น เติมน้ำมันที่ตะเกียงเท่านั้น (มีทั้งหมด 8 จุด) ห้ามราดน้ำมันลงบนองค์พระพุทธรูป
ซุ้มที่ 3 หลวงปู่ทวด วัดช้างไห้
ซุ้มที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์โต และพระปรมาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ พัทลุง ตามหลวงเปรม วัดวิหารสูง พัทลุง
ซุ้มที่ 6 องค์พระพุทธชินราช และบูชาพระธาตุเจดีย์หลวง
เมื่อเราไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์รอบองค์พระธาตุเจดีย์หลวงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้เราตีระฆังที่ตั้งอยู่รอบองค์พระธาตุเจดีย์หลวง
กระดิ่ง คือ สัญลักษณ์ของความดี ความสุข ความสงบร่มเย็น การทำบุญด้วยกระดิ่ง จึงเป็นการนำสิ่งที่ดีๆ ไปทำบุญ เพื่อที่จะให้สิ่งดีๆ เหล่านั้นได้สะท้อนกลับมาหาตัวผู้ทำ
เขียนชื่อของเรา หรือคนในครอบครัวลงใบโพธิ์ แล้วนำกระดิ่งมาแขวน
กรงใส่กระดิ่งที่ได้ถวายองค์พระธาตุเจดีย์
ที่จุดประทัด และเผากระดาษไหว้เจ้า
ปืนใหญ่โบราณ
เป็นปืนใหญ่ที่เคลื่อนย้ายมาจากบริเวณเมืองเก่าเชิงเผ่า สันนิษฐานว่าเป็นปืนที่มีไว้สำหรับยิงบอกเวลา
ลานชมวิวเมืองสงขลา บนยอดเขาตังกวน
ฐานสักการะหลวงปู่ทวด จะมีรูป หัวใจในใบโพธิ์ มีระฆังห้อยอยู่ ขนาบ 2 ข้าง
สำหรับคู่รัก หรือคนมีคู่ หรือคนมีความรัก หรือความรักรูปแบบไหนก็ตาม สามารถนำกุญแจมาอธิษฐานต่อหน้าหลวงปูทวด เพื่อให้ความรักมั่นคงยั่งยืนตลอดไป
บนยอดเขาตังกวน ยังมีรูปปั้นหล่อเหมือน หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ตั้งประดิษฐานอยู่ด้วย
หลวงปู่ทวด เป็นปางสมาธิ เป็นพระอาจารย์เกจิชื่อดัง ซึ่งประชาชนในภาคใต้ให้ความเคารพนับถือ ไม่เพียงแต่ชาวภาคใต้เท่านั้น ยังเป็นที่เคารพนับถือของชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย
บริเวณเดียวกับรูปปั้นหล่อเหมือน หลวงปู่ทวด ยังเป็นที่สำหรับคล้องกุญแจ สำหรับคู่รัก หรือคนมีความรัก ไม่เพียงเฉพาะความรักหนุ่มสาว แต่เป็นความรักทุกรูปแบบ ให้รักยั่งยืนตลอดไป
ถ้าหากเราไม่ได้เตรียมกุญแจมาคล้อง ก็สามารถหาซื้อได้บนยอดเขาตังกวน จะมีจุดจำหน่ายบริการอยู่
การล็อคกุญแจรัก
- นำกุญแจขึ้นอธิษฐานต่อหน้าหลวงปู่ทวด เพื่อให้ความรักที่ผูกพันมั่นคงต่อคู่รัก หรือสามี – ภรรยา หรือ พ่อ – แม่ หรือ ลูก – หลาน หรือเพื่อนมนุษย์ หรือ… ฯลฯ ยั่งยืนตลอดไป
- นำกุญแจไปล็อคไว้บนแผงหัวใจ ตามทิศที่ท่านต้องการ
- โยนดอกกุญแจทิ้งหน้าผาเขาตังกวน ฝั่งด้านหน้าหลวงปู่ทวด
เขาตังกวน ตั้งอยู่บนยอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 105 เมตร
ทางด้านซ้ายมือ เราจะมองเห็นสนามกีฬาติณสูลานนท์ และหาดสมิหลา
บนยอดเขาตังกวน เราสามารถมองวิวเมืองสงขลาได้แบบพาโนรามา 360 องศาได้เลย
ด้านขวามือ จะมองเห็นภูเขา ซึ่งเรียกว่า “เขาแดง”
สะพานที่ทอดยาวอยู่กลางทะเลสาปสงขลา คือ “สะพานติณสูลานนท์” ข้ามไปยังเกาะยอ
โบราณสถานบนยอดเขาตังกวน สถานที่สุดท้ายที่เราจะไปไปชม นั่นคือ พลับพลาวิหารแดง หรือ ศาลาพระวิหารแดง
บันไดพญานาค เดินลงสู่ศาลาพระวิหารแดง
เดินลงไปไม่ไกลนัก ก็จะเห็นอาคารสีแดงตรงหน้า
ด้านนี้จะเป็นทางด้านหลังของศาลาพระวิหารแดง
ศาลาพระวิหารแดง ถูกสร้างแบบสถาปัตยกรรมแนวยุโรป
ก่ออิฐไม่ฉาบปูน ทาสีแดงทั้งหลัง
การก่อสร้างภายในศาลาพระวิหารแดงเป็นโถงใหญ่ มีช่องลมตลอดทั้งสี่ทิศ
ศาลาพระวิหารแดง ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของยอดเขาตังกวน สามารถมองเห็นทิวทัศน์ทะเลสาปสงขลาได้อย่างชัดเจน
หน้าศาลาพระวิหารแดงหันหน้าออกสู่ทะเล
เขาด้านหน้าที่เรามองเห็น คือ เขาแดง
สามารถเดินลงไปยังทางขึ้นบันไดพญานาคฝั่งทางขึ้นทิศตะวันตก และเราสามารถเดินลงไปเดินชม ถ่ายรูปเล่นได้
ณ ศาลาพระวิหารแดง สามารถมองเห็นชุมชนริมน้ำ และเขาแดงได้ แต่ไม่สามารถชมวิวเมืองสงขลาได้แบบ 360 องศา
ตรงหน้าบันศาลาพระวิหารแดง เป็นรูปปั้นช้างสามเศียรปูนปั้นลอย
ศาลาพระวิหารแดง
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างพลับพลาที่ประทับนี้ แต่ยังคงสร้างอยู่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายูถึงเมืองสงขลา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน มีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหารจนสำเร็จในเวลาต่อมา แล้วยังทรงพระราชดำริให้สร้างบันไดนาคขึ้นจากพลับพลา ซึ่งสร้างสำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2440
พลับพลาที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)
บันไดพญานาค สู่ศาลาพระวิหารแดง
เขาตังกวน
ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสงขลา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 105 เมตร บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานโบราณสำคัญ ประกอบด้วย พระธาตุเจดีย์หลวง ศาลาพระวิหารแดง ประภาคาร และประภาคารฟารอสจำลอง อีกทั้งยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะบูชา ดังนี้ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด พระสยามเทวาธิราช พระพรหม 4 หน้า รัชกาลที่ 5 องค์พระพุทธชินราช สมเด็จพระพุฒาจารย์โต และพระปรมาจารย์ทองเฒ่า วัดเขาอ้อ พัทลุง ตามหลวงเปรม วัดวิหารสูง พัทลุง
บนยอดเขาตังกวน ยังเป็นจุดสูงสุดในการชมวิวเมืองสงขลา แบบพาราโนมา 360 องศา อีกด้วย
อุปกรณ์ที่ใช้บันทึกภาพ
Body : Nikon D610
Lens : AF-S Nikkor 24-70 mm F2.8G ED
Body : Fujifilm X-T10
Lens : Fujinon Lens XF 10 – 24 mm F4 R OIS
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมรีวิวค่ะ สามารถพูดคุยกันได้ที่
Face Book : ยัยตัวร้าย สะพายกล้อง / Bloggertrip
IG : @bloggertripth
Twitter : @iamdevilth
Leave a Reply