ยัยตัวร้าย ย้ายมาอยู่หาดใหญ่ตั้งเกือบ 10 ปี ยังไม่เคยมาเลยสำหรับสถานที่แห่งนี้ แต่ได้ยินชื่อมานาน ที่ใครต่อใครมักเรียกว่า “เจดีย์สแตนเลส” หรือ “วัดเจดีย์สแตนเลส” ตั้งอยู่บนเขาคอหงส์ หลังมอ. (มอ. อ่านว่า มอ-ออ คือ ชื่อย่อของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) เส้นถนนปุณณกัณฑ์ คราวนี้ได้มีโอกาสได้กลับมาบ้าน ก็เลยถือโอกาสมาชื่นชมความงามของเจดีย์สแตนเลสแห่งแรกของโลก
เจดีย์สแตนเลส หรือ พระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล
ที่ตั้ง : เขาคอหงส์ หมู่ 8 บ้านไร่ ถนนปุณณกัณฑ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
การเดินทาง เราขับรถมายังเส้นถนน 108 – 109 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ชื่อถนน คือ ถนนปุณณกัณฑ์ ขับไปทางศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ม.สงขลานครินทร์ ขับเลยโรงฆ่าสัตว์ เลยหมู่บ้านการ์เด้นท์ฮิลล์ ก็จะเจอป้ายทางขึ้นเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล ซึ่งเป็นทางเดียวกับทางขึ้นสถานีเสาส่งทีวีช่อง 3, 7 และ 11 ทางขึ้นเขาจะเป็นถนนที่ค่อนข้างแคบเวลารถวิ่งสวนทางกัน ต้องหลบข้างทางให้อีกคันผ่านไปก่อน ระยะทางจากทางขึ้นเขาจนถึงเจดีย์สแตนเลส ประมาณ 2.7 กิโลเมตร
ขึ้นมาถึงยังพระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล ด้านซ้ายมือเราจะเจอกองอำนวยการ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่นี่
ด้านซ้ายมือของเราจะพบกับ พระพุทธรูปต่างๆ ตั้งประดิษฐานให้สักการะ
พระพุทธรูปองค์นี้ คือ พระสีวลี ปางธุดงค์
พระพุทธรูป ปางห้ามสมุทร 2 องค์ตั้งอยู่ทางด้านซ้าย และขวามือ
เดินมายังบริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล ทางซ้ายมือเราจะพบกับรูปปั้น 12 นักษัตร
รูปปั้น 12 นักษัตร ตั้งอยู่ตรงด้านหน้าศาลาธรรมสถาน
เดินมาทางด้านใน ทางซ้ายมือจะเจอกับ พระพุทธรูป พระคันธราชปางปฐมเทศนา
บริเวณศาลาธรรมสถาน มูลนิธิพระธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล ประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์
รูปปั้นนางในวรรณคดี สีทองเหลืองอร่าม
เดินออกมายังตรงธรรมสถาน เดินมาทางขวามือทางไปพระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล ก่อนจะถึงเจดีย์ ทั้งสองฝั่งจะมีทั้งพระพุทธรูปต่างๆ
พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19 – 20) องค์ทองเหลืองอร่าม ฐานทำด้วยสแตนเลส
ระฆังใบเล็ก แต่ละอันจะแทนวันเกิด เดือนเกิด ปีนักษัตร แขวนเรียงแถวยาวไปตลอดทางจนเกือบถึงองค์เจดีย์
เรามาดูฝั่งตรงกันข้ามกันบ้าง ถ้าหากเราเดินเข้ามายังบริเวณที่จะไปเจดีย์สแตนเลส ทางขวามือเราจะพบ พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์สีเงิน
องค์พระประธานประจำเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล สักการะด้วยบทสวดมนต์ 1, 2, 5 บูชาด้วยธูป 3 ดอก
บทที่ 1
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 ครั้ง)
บทที่ 2
พุทธัสสะบูชา มหาเตชะวันโต ธัมมัสสะบูชา มหาปัญญาโย สังฆัสสะบูชา มหาโภคะวะโห โลกะนาโถ ิมินา สักกาเรนะ ปะฏิ ปะฏิ บูชายะ
บทที่ 5
อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสลิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานภายในบริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล
สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี
หอระฆังทำด้วยสแตนเลสตั้งอยู่รอบองค์เจดีย์เปรียบเสมือนธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งธาตุดิน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือ
กระถางธูปที่ตั้งอยู่บริเวณด้านอก รอบองค์เจดีย์ มีทั้งหมด 28 กระถาง ตามจำนวนพระอรหันต์ 28 องค์ จุดธูปกระถางละ 3 ดอก
พระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล
จัดสร้างขึ้น เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี โดยมีการวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และสร้างแล้วเสร็จใน 160 วัน
เสาธงที่ตั้งอยู่หน้าพระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล เสาธง 3 เสา ได้แก่ ชาติ ศสนา พระมหากษัตริย์
บริเวณหน้าเสาธง ทุกวันเวลา 17.55 น. ร่วมร้องเพลงสดุดีมหาราชา สวดมนต์บทที่ 1, 2 และ 5 เวลา 18.00 น. เคารพธงชาติ, สรรเสริญพระบารมี และเปิดไฟเจดีย์ ทุกวันที่ 7, 12 และ 27 เวลา 10.20 น. ถวายสังฆทานประจำเดือน
พระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล ตัวเจดีย์ เป็นการนำสแตนเลสเส้นกลมหลายขนาดมาเชื่อมต่อเรียงกันเป็นรูปของเจดีย์ ส่วนยอดเจดีย์ทำเป็นคล้ายปล้องไฉน มีฉัตรอยู่บนยอดสุด เป็นเจดีย์องค์แรกที่สร้างขึ้นด้วยสแตนเลสทั้งองค์ เวลาต้องแสงแดดจะเกิดส่องประกายสีเงินแวววาว ผู้สร้างค์ใช้สแตนเลสเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง เพื่อแทนนัยแห่งความบริสุทธิ์
องค์เจดีย์ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 22 เมตร ความสูง 32 เมตร สแตนเลสที่เชื่อมต่อเป็นวงต่อขึ้นเป็นองค์เจดีย์ จำนวน 60 ชั้น เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสทรงครองราชย์ 60 ปี
ฐานเจดีย์ สร้างด้วยก่ออิฐถือปูน เป็นฐานวงกลมสีทอง ไม่มีบานประตู แต่จะเป็นช่องวงกลมรอบเจดีย์มีด้วยกันทั้งหมด 14 ช่อง
สำหรับชื่อของเจดีย์
ไตรภพ หมายถึง พระอรหันต์ในบ้าน (พ่อแม่)
ไตรมงคล หมายถึง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
รอบๆ องค์เจดีย์จะมีช่องทั้ง 14 ช่อง ผนังด้านนอกฝังเหรียญบาทไว้โดยรอบองค์ฐานเจดีย์
ทั้ง 14 ช่อง มีจิตรกรรมภาพวาด เป็นเรื่องราวพุทธประวัติ และพุทธจริยวัตร สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธรูปองค์ทอง ปางต่างๆ จะเป็นพระอรหันต์ 28 องค์
ภายในใต้ฐานองค์เจดีย์จะมีผนังอีกชั้นหนึ่ง แต่ละช่องเป็นช่องประจำวันเกิด มีทั้งหมด 8 ช่อง แยกวันพุธออกเป็น พุธกลางวัน และพุธกลางคืน ให้เราเดินผ่านช่องวันเกิด เจตนาเพื่อให้ระลึกถึงพระคุณของผู้ให้กำเนิด แต่ละช่องจะมีพระพุทธรูปประจำวันเกิด และภาพพระธาตุเจดีย์ประจำวันเกิดตามที่ต่างๆ ในประเทศไทย
ภายในตรงกลางฐานองค์เจดีย์ จะมีแกนสแตนเลสยู่ตรงกลาง
เสาตรงกลางจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีผ้าไตรวางรอบๆ ให้เราเลือกนั่งทิศช่องประจำวันเกิด หยิบผ้าไตรขึ้นมากล่าวบูชาพระบรมสารีริกธาตุ
บทบูชาพระบรมสารีริกธาตุ
อะหัง วันทามิ ทูระโต อะหัง วันทามิ ธาตุโย
อะหัง วันทามิ สัพพะโสฯ
อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ
อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ
ขอนมัสการสถานศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป มีสังเวชนียสถาน เป็นต้น ขอนมัสการพระบรมสารีรีกธาตุ และพระธาตุทั้งหลายทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาล ขอนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย
รอบๆ แกนเสาตรงกลาง จะประดับด้วยถ้ามเบญจรงค์
บันไดทางขึ้นชั้น 2 ไปยังภายในองค์พระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล บันไดนี้สำหรับทางขึ้น จะมีอีกบันไดหนึ่งเป็นทางลง
เป็นบันไดวน ขั้นบันไดเป็นทรงกลม
โครงสร้างตัวองค์เจดีย์จะเป็นสแตนเลสทั้งหมด แกนเสาที่อยู่ตรงกลางก็เป็นสแตนเลส
ภายในองค์เจดีย์ มีให้เราทำบุญวันเกิด มีด้วยกัน 4 ชุด โดยให้ใส่เหรียญลงในบาตรพระ ซึ่งจะมีด้วยกัน 8 บาตร
บาตรที่ตั้งอยู่ใจแกนกลาง เราสามาถโยนเหรียญเสี่ยงทายให้ลงไปในยังบาตรพระ
แกนกลาง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
สแตนเลสขดเป็นวงกลมจนสู่ปลายยอดองค์เจดีย์
ประตูออกไปสู่บริเวณด้านนอก มีด้วยกัน 4 ประตู แต่ถูกล็อคไว้
ข้างๆ ประตู จะมีรูปทรงกลมทำด้วยแสตนเลส มีกระดิ่งประดับโดยรอบ
ภายในองค์เจดีย์ ผนังองค์เจดีย์จะเป็นเส้นสแตนเลสทรงกลมทั้งหมด มีบาตรพระล้อมรอบองค์เจดีย์
บริเวณด้านนอก จะเป็นรั้วล้อมรอบองค์เจดีย์ จะทำด้วยสแตนเลสทั้งหมด และมีบาตรพระล้อมรอบเช่นกัน
ด้านนอกเราไม่สามารถออกไปได้ เพราะเค้าล็อค สามารถมองเห็นวิวเมืองหาดใหญ่ได้ เพราะเจดีย์สแตนเลส ตั้งอยู่บนยอดเขาคอหงส์
พระมหาธาตุเจดีย์ไตรภพ ไตรมงคล
มักนิยมเรียกชื่อว่า เจดีย์สแตนแลส หรือ วัดเจดีย์สแตนเลส เป็นเจดีย์สแตนเลส แห่งแรกของโลก และเป็น Useen อีกด้วย สร้างขึ้นเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติ 60 ปี เป็นศูนย์รวมใจสืบสารพระพุทธศาสนา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีไทย การเผยแพร่พุทธประวัติ และพุทธจริยวัตร สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เรียนรู้องค์พระประธานประจำวันเกิด เดือนเกิด และปีนักษัตรเกิดของตนเองอีกด้วย
อุปกรณ์ที่ใช้บันทึกภาพ
Body : Nikon D610
Lens : AF-S Nikkor 24-70 mm F2.8G ED
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมรีวิวค่ะ สามารถพูดคุยกันได้ที่
Face Book : ยัยตัวร้าย สะพายกล้อง / Bloggertrip
IG : @bloggertripth
Twitter : @iamdevilth
Leave a Reply