One Day Trip เที่ยวอยุธยา ทริปในครั้งนี้ไม่ได้เที่ยวตามรอยละครบุพเพสันนิวาสนะจ้า แต่ยัยตัวร้ายจะพาไปสืบตำนานเครื่องประดับงานศิลป์ จะพาไปย้อนรอยประวัติศาสตร์เครื่องประดับที่เป็นมากกว่าเครื่องประดับ
สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด เป็นยุคที่ร่ำรวยและมั่งคั่งไปด้วยทองคำ ในกรุงศรีอยุธยานั้นมีพระพุทธรูปทองคำ และวัตถุทองคำต่างๆ มากมาย ตามวัดวาอาราม โบสถ์ วิหาร ต่างก็ประดับไปด้วยทองคำ และอัญมณี กรุงศรีอยุธยานั้นเป็นแหล่งทองคำสมคำร่ำลืออย่างแท้จริง
หลักฐานที่ยืนยันความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยาได้ชัดเจน คือ การขุดพบกรุสมบัติครั้งยิ่งใหญ่ในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะเมื่อปี พ.ศ.2500 ภายในกรุได้ค้นพบของมีค่ามากมาย อาทิ เศียรพระพุทธรูป พระพุทธรูปสมัยทวารวดี สุโขทัย อยุธยา อู่ทอง เครื่องประดับ เครื่องไม้จำหลักฝีมือช่างสมัยอยุธยา เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องถ้วย ของมีค่าเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และบอกเล่าถึงที่มาของชนชาติไทย ซึ่งได้ถูกเก็บรักษาไว้ให้คุณรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
พระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองหนึ่งของประเทศไทย มีหลักฐานให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองในอดีตปรากฏอยู่มากมาย ในปลายปี พ.ศ. 2500 ได้มีผู้ลักลอบขุดเจาะหากรุในองค์พระปรางค์วัดราชบูรณะ ด้วยประสงค์ของมีค่า กรมศิลปากรทราบเรื่อง จึงขุดค้นนำโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุออกเสีย เพื่อมิให้สมบัติของชาติสูญหายไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ขึ้นเพื่อเก็บรักษาจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และโบราณวัตถุที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พิพิธภณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา นับเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แห่งแรกของไทยที่มีรูปแบบการจัดแสดงแบบใหม่ คือ นำโบราณวัตถุมาจัดแสดงจำนวนไม่มากจนเกินไป และใช้แสงสีมาทำให้การนำเสนอดูน่าสนใจ โดยจัดแสดงเป็น 3 อาคาร
อาคารจัดแสดง 1 แบ่งเป็น 2 ชั้น
ชั้นล่าง จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปวัตถุที่ค้นพบ และได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในจังหวัดพระครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น
เศียรพระพุทธรูปสำริด จากวัดธรรมิกราช พระนครศรีอยุธยา ศิลปะอยุธยาตอนต้น (แบบอู่ทองรุ่นที่ 2) อายุราวต้นถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 20
พระพุทธรูปศิลาขาว ปางแสดงธรรม จากวัดพระเมรุ (ร้าง) นครปฐม ศิลปะทารวดี พุทธศตวรรษที่ 12-16
บานประตูไม้จำหลักรูปเทวดาทรงพระขรรค์ จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 21
กลุ่มพระพุทธรูปที่พบภายในองค์พระมงคลบพิตร และกลุ่มพระพุทธรูปที่พบในกรุวัดหมาธาตุ และวัดราชบูรณะ
ชั้นบน จัดแสดงโบราณวัตถุที่ค้นพบและได้จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น
พระพิมพ์
พระพุทธรูปปางลีลา ยกพระหัตถ์ซ้ายอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ยอดเป็นรูปฉัตร สองข้าง เสาเรือนแก้วมีแจกันดอกไม้ ทำด้วยดินเผา
พระพุทธรูปปางลีลา ยกพระหัตถ์ซ้าย อยู่ในซุ้มเรือนแก้ว สองข้างเสาเรือนแก้วมีแจกันดอกไม้
พระพิมพ์ทำเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย มีพระนาคปรกอยู่ข้างซ้าย และขวา (พระพิมพ์แบบนี้เคยมรพบในเมืองลพบุรี, สุโขทัย, และลำพูน)
แม่พิมพ์ พระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย มีพระนาคปรกอยู่ข้างซ้ายและขวา
พระพิมพ์ศิลปะแบบลพบุรี ประเภทลอยตัว พระพิมพ์ทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ปางสมาธิ
พระพิมพ์ทรงใบขนุน ทำเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ปางสมาธิ มีนาคปรก 7 เศียรแผ่พังพานปรกอยู่เบื้องบนเศียรของพระพุทธรูป ประทับนั่งจัดสมาธิราบบนฐานขนดนาค 2 ชั้น ชั้นทรงกรองศอ และกุณฑล
และโบราณวัตถุรายการสำคัญ คือ พระบรมสารีริกธาตุจากวัดมหาธาตุ
และเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ
อาคารจัดแสดง 2
ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของอาคารจัดแสดง 1 ปัจจุบันชั้นล่างจัดแสดงโบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผา ส่วนชั้นบนเป็นคลังเก็บโฐราณวัตถุของพิพิธภัณฑ์
เครื่องปั้นดินเผาในสมัยก่อนประวัติศาสตร์
เครื่องปั้นดินเผาสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์
อาคารเรือนไทย
ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอาคารจัดแสดง 1 ในบริเวณคลองฉะไกรน้อย
เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้สมัยโบราณ และตำรายา ปัจจุบันใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา
ตั้งอยู่เลขที่ 108 หมู่ 2 ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จัหงวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
เบอร์โทร 0-3524-1587
เบอร์โทรสาร 0-3524-4570
เป็นยังไงบ้างคะ กับการเที่ยวชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ถึงจะเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ไม่ใหญ่มากแต่คุณค่าทางมรดกมันมากนัก โดยเฉพาะห้องเครื่องทองวัดมหาธาตุ และห้องเครื่องทองวัดราชบูรณะ ลวดลายเครื่องประดับสวยมาก งานประณีต วิจิตรศิลป์ยิ่งนัก ภายในห้องไม่สามารถ่ายรูปได้ ยัยตัวร้ายมีรูปบางส่วนเป็นเครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ (รูปที่ได้มายัยตัวร้ายไปในฐานะสื่อมวลชนจริงได้รูปมาค่ะ)
เครื่องทองจากกรุวัดราชบูรณะ
ชิ้นส่วนเครื่องประดับ ตัวเรือนทำจากทองคำ และประดับด้วยพลอยหินสี ฉลุเป็นลายดอกไม้ สมัยอยุธยาตอนต้น
แหวนทองคำ หัวแหวนทำเป็นรูปทรงกลม และทรงเหลี่ยม ภายในทำเป็นรูปสัตว์ ดอกไม้ และลายฉลุ
ฉลองพระบาทจำลองทองคำ หนึ่งในเครื่องสูงจำลอง ฉลองพระบาทตกแต่งด้วยลายดอกไม้ และลายลูกประคำ
ยัยตัวร้ายเอามาให้ชมบางส่วนว่าสวยงามขนาดไหน ถ้าอยากรู้ว่าสวยขนาดไหน ยัยตัวร้ายแนะนำมาชมเองดีกว่าเนอะ “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น”
ก่อนที่เราจะเดินทางไปดูเครื่องประดับทองกันต่อ ยัยตัวร้ายขอพักเที่ยงหาข้าวกินกันก่อน ร้านนี้วันเสาร์-อาทิตย์ คนแน่นร้านทุกวัน และเมนูเด็ดของร้านนี้คือ “กุ้งแม่น้ำ” ร้านที่เราจะไปทานกัน นั่นคือ
เรือนไทยกุ้งเผา
ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเชิงเลน เปิดทุกวัน เวลา 10.00 – 18.00 น. เบอร์โทร 089-887-0871
เมนูเด็ดที่อยากจะแนะนำ และเป็นเมนูที่ห้ามพลาด “กุ้งแม่น้ำ” กุ้งตัวใหญ่ มันกุ้งเยื้อมๆ แค่นี้ก็ฟินแล้ว อ้อลืมบอกถ้ามาวันเสาร์-อาทิตย์ คนจะเยอะ แนะนำให้โทรมาจองกุ้งแม้น้ำกันก่อนค่ะ บางครั้งเรามากุ้งแม่น้ำอาจจะหมดก็ได้ค่ะ
ยำถั่วพลู รสชาติครบ 3 รส เปรี้ยว หวาน เค็ม รสชาติไม่จัดจ้านมากนัก คนที่ไม่ทานเผ็ดเหมือนยัยตัวร้ายก็ทานได้ค่ะ เครื่องเคียงที่ใส่เยอะมากจนแทบจะไม่เจอถั่วพลูเลย ถือว่าอร่อยและคุ้มสุดๆ
อบวุ้นเส้น ที่เป็นเส้นๆ เนื้อแดงๆ เป็นเนื้อปู วุ้นเส้นไม่เละ หอมเครื่องเทศที่ใช้อบวุ้นเส้น อร่อยจนเกลี้ยงจานเลยจ้า
ต้มยำกุ้งน้ำข้น กุ้งสด รสชาติน้ำต้มยำเข้มข้น ตักกินกันไม่พอเลยอะ ทีว่าเด็ด
ปลาทรายทอดกรอบ ทอดปลากรอบกินได้ทั้งตัวเลย
กะหล่ำปลีทอดน้ำปลา เมนูผักกันบ้าง อร่อยดีอะ ก็น่าจะเหมือนกะหล่ำปลีทอดน้ำปลาทั่วๆ ไป
ไข่เจียวหมูสับ เมนูที่เวลาสั่งกับข้าวมักจะสั่งมาเกือบทุกครั้ง ^^
ร้านอาหารเรือนไทยกุ้งเผา อาหารอร่อยทุกเมนู ยัยตัวร้ายให้ 5 ดาวเลยค่ะ ถ้าใครแวะมาเที่ยวอยุธยาก็ห้ามพลาดร้านนี้เลยนะคะ เป็นอีกร้านเด็ดของพระนครศรีอยุธยาเลยจ้า
เมืองท้องอิ่มแล้ว สถานที่ต่อไปที่ยัยตัวร้ายจะไปสืบตำนานเครื่องประดับงานศิลป์กันต่อที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ
ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจา้พระยาในอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ ดำเนินงาน โดยมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงก่อตั้งขึ้น เป็นแหล่งเรียนรู้ทางภูมิปัญญาทางด้านศิลปหัตถกรรมของไทย โดยมุ่งเน้นการฝึกและส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกรในชนบท เพื่อเป็นรายได้พิเศษเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ว่างจากงานเกษตรกรรม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2527
ประกอบด้วยอาคารต่างๆ ได้แก่ กลุ่มอาคารแผนกช่าง 32 แผนก เช่น แผนกช่างสานย่านลิเภา ช่างทอผ้าไหม เครื่องเคลือบดินเผา ช่างแกะสลัก ช่างเป่าแก้ว ช่างทอผ้าลายตีนจก ช่างประดิษฐ์หัวโขน ช่างปักผ้า ฯลฯ หมู่บ้านศิลปาชีพ ภายในหมู่บ้านไทยโบราณ 4 ภาค, อาคารท่าน้ำชัยยุทธ, ศาลพระมิ่งขวัญ จำหน่ายสินค้า และของที่ระลึกของศูนย์ศิลปาชีพฯ, สวนนกและะวังปลา
ยัยตัวร้าย จะนำทุกท่านเข้าสู่ศาลาพระมิ่งขวัญ ซึ่งมีหอนิทรรศการด้วยกัน 5 หอ ได้แก่ หอศิลปาชีพ, หอหัตถศิลป์ระหว่างประเทศ, หอเกียรติยศ, หอสุพรรณ-พัสตร์ และหอนวัตศิลป์
ยัยตัวร้ายจะพาเยี่ยมชมแค่ 1 หอ นั่นคือ หอสุพรรณ-พัสตร์
หอสุพรรณ-พัสตร์ จะมีการจัดแสดงด้วยกัน 2 ส่วน ส่วนแรก จัดแสดงเรื่องราว และความประณีตสวยงามของงานเครื่องทองไทยโบราณ อาทิ เครื่องทองสุโขทัย เครื่องทองเพชรบุรี เครื่องทองสมัยอยุธยา เครื่องถมทองนครศรีธรรมราช
ประเภทของเครื่องทอง
หากจำแนกเครื่องทองในสังคมไทยในการใช้สอยคงแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้ คือ
1. เครื่องอุปโภค คือ ภาชนะ เครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ซึ่งอาจใช้จริง หรือมีไว้เพื่อประกอบเกียรติยศ และฐานันดรศักดิ์ เช่น หีบหมาก เชี่ยนหมาก ขันน้ำ พานรอง คนโท กาน้ำ ถ้วยชาม ของผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย ไปจนถึงของใช้พระมหากษัตริย์ที่เรียกว่า “เครื่องราชูปโภค”
2. เครื่องประดับตกแต่งร่างกาย เช่น แหวน กำไล สายสร้าย สังวาล ทับทรง ต่างหู่ ปิ่น ตลอดจนศิราภรณ์แบบต่างๆ เช่น มงกฎ ชฎา รัดเกล้า เกี้ยว และกระบังหน้า
3. เครื่องบูชาสักการะทางศาสนา ความเชื่อ และพิธีกรม เช่น พระพุทธรูปทรงเครื่อง เทวรูป และเครื่องมงคลต่างๆ เช่นฉัตร สังข์ เลี่ยมทอง ตีไม้ทอง บังแทรก บังสูรย์จำลอง
พระพุทธรูปทรงเครื่อง คือ พระพุทธรูปที่ประดับด้วยเครื่องทอง และอัญมณี อันมีค่าตามแบบเครื่องทรงพระมหากษัตริย์โบราณ ที่เรียกว่า “เครื่องต้น” ประกอบขึ้นด้วย พระมหามงกุฎ อินทรธนู ดอกไม้ไหว สร้อยสังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร ทองพระบาท พระธำมรงค์ และเชิงสนับเพลา
ชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบ
ชุดไทยพราะราชนิยม เป็นเครื่องแต่งกายแบบไทยของสตรี ที่สมเด็จพระรางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชวินิจฉัย และทรงแนะนำให้ปรับปรุงพัฒนา รูปแบบให้สวยงามเหมาะแก่โอกาส และสถานที่ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมหลวงมณีรัตน์ บุญนาค เป็นผู้ตั้งชื่อชุดไทยทั้งหมด หม่อมหลวงมณีรัตน์ ได้นำชื่อพระที่นั่ง พระตำหนัก สถานที่สำคัญต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง และในพระราชวังดุสิต ใช้ขนานนามชุดไทยทั้ง 8 แบบดังกล่าว
ปัจจุบัน ชุดไทยพระราชนิยม นับเป็นเครื่องสื่อแสดงถึงเอกลักษณ์ของสตรีไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับ และจดจำไปทั่วโลก
มีให้เราแต่งตัวตุ๊กตาในชุดไทยพระราชนิยมอีกด้วย อารมณ์ประมาณเหมือนเล่นตุ๊กตากระดาษ (ตุ๊กตากระดาษเกิดกันทันมั้ยเอ่ย)
และส่วนที่ 2จัดแสดงนิทรรศการงานผ้าทอพื้นถิ่นในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นงานที่ได้จากภูมิปัญญาไทยที่ถ่ายทอดสดส่งต่อจากรุ่นสู่ร่นมายาวนาน โดยผ้าแต่ละผืนจะสะท้อนถึงประเพณี ความเชื่อชาติพันธ์ วิถีชีวิตของคนในชุมชนและท้องถิ่นนั้นๆ
เครื่องแต่งกายของไทย
ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้
อย่างที่ยัยตัวร้ายกล่าวไปในข้างต้นว่า ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ มีหอแสดง 5 หอ นี้แค่เป็นเพียง 1 หอ ที่ได้พามาเยี่ยมชม ถ้าใครมีโอกาสก็มาเยี่ยมชมให้ครบทั้ง 5 หอ จะตื่นตราตื่นใจ อีกทั้งยังได้ความรู้ควบคู่ไปด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)
ตั้งอยู่เลขที่ 59 หมู่ 4 ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13290
เบอร์โทร 035-367-054 เบอร์โทรสาร 035-367051 สายด่วน 1289
สำหรับ One Day Trip เที่ยวอยุธยา สืบสานตำนานเครื่องประดับศิลป์ ยัยตัวร้ายคิดว่าทุกคนคงได้ประโยชน์เกี่ยวกับเครื่องประดับของไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ความประณีต วิจิตศิลป์ การทำลวดลายที่สวยงาม เป็นความน่าภาคภูมิใจของเราชาวไทย และยังคงเป็นที่สืบทอดให้รุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมรีวิวค่ะ สามารถพูดคุยกันได้ที่
Face Book : ยัยตัวร้าย สะพายกล้อง / Bloggertrip
IG : @bloggertripth
Leave a Reply