ทริปนี้ ยัยตัวร้าย ล่องใต้กันค๊า แบ่งเป็น 2 ทริป คือ 9 เรื่องราว เที่ยวตามรอยนครศรีธรรมราช และ 19 จุดเช็คอิน เที่ยวนครศรีธรรมราช ซึ่ง ยัยตัวร้าย คิดว่ามีอีกหลายสถานที่ที่ทุกคนยังไม่เคยไปกัน มามะ ตามยัยตัวร้ายมาเลย รับรองเที่ยวคุ้ม กับทริป 2 วัน 1 คืน
รีวิว 19 เรื่องราว เที่ยวนครศรีธรรมราช >>>> http://bit.ly/2uy52vV
เมืองคอน หรือ จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือมักเรียกสั้นๆ ว่า “นคร” ตั้งอยู่ทางภาคใต้ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 780 กิโลเมตร
ในอดีตมีชื่อเรียกดินแดนแถบนี้หลายชื่อ ที่ตะวันตกนิยมเรียกกันมาจนกระทั่งตั้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คือ “ลิกอร์” สันนิษฐานว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเป็นผู้เรียกก่อน โดยเพี้ยนมาจากคำว่า “นคร” ส่วนชื่อ “นครศรีธรรมราช” มาจากพระนามของกษัตริย์ผู้ครองนครในอดีต ทรงมีพระนามว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” (ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช) มีความหมายว่า “นครอันเป็นสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม” หรือ “เมืองแห่งพุทธธรรมของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่”
ข้อมูลจาก www.tsc.ac.th
สำหรับเรื่องราวแรกที่ยัยตัวร้ายจะไปนั่น คือ วัดธาตุน้อย กันก่อน ขับไปทางจันดี ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ไปทางเดียวกันกับหมู่บ้านคีรีวง เค้าว่ากันว่า ต้องมาวัดนี้ใครขอพรอะไรมักจะได้ตามที่ขอ
วัดธาตุน้อย พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์
ทำไมต้องมาวัดธาตุน้อย ก็เพราะว่า วัดธาตุน้อย เป็นวัดที่ประดิษฐานสรีระของพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ และภายในพระเจดีย์ยังมีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ด้วย
พ่อท่านคล้าย (พระครูพิศิษฐ์อรรถการ) พระเกจิอาจารย์ดังที่ชาวใต้เลื่อมใสศรัทธาอีกรูปหนึ่ง พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ ได้ชื่อว่าเป็นเทวดาเมืองคอน เทพเจ้า แห่งแดนใต้ ชาวเมืองคอนเสื่อมใส ศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง
พื้นที่ของวัดธาตุน้อยเป็นของผู้ใหญ่กลับ งานพร้อม ถวายให้พ่อท่านคล้าย ตั้งอยู่ในเขตตำบลหลักช้าง กิ่งอำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช
แนวคิดในการสร้างพระเจดีย์ธาตุน้อยนั้น พ่อนท่านคล้ายได้กล่าวไว้ก่อนที่จะสร้างว่า “ฉันจะสร้างเจดีย์องค์ใหญ่สักองค์ ให้เหมือนพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช แต่ไม่ให้ใหญ่กว่า เพราะพระบรมธาตุนั้นเจ้าเค้าสร้าง”
ภายในพระเจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุ และสรีระของพ่อท่านคล้ายบรรจุในโลงแก้วประดิษฐานอยู่ด้วย
ณ สถานที่นี้ จึงเป็นเจดีย์อนุสรณ์สถานพ่อท่านคล้ายอีกด้วย สังขารพ่อท่านคล้ายซึ่งว่ากันว่าแข็งเป็นหิน ที่ชาวบ้านนับถือ และศรัทธาด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้ผู้คนหลั่งไหล เข้ามาสักการะบูชากันมากยิ่งขึ้น
ใช้เวลากลับเข้าเมืองนครศรีธรรมราชเกือบ 1 ชั่วโมง ไหนๆ ก็มาในตัวเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ยัยตัวร้ายต้องขอไปสักการะศาลหลักเมืองกันก่อน
เรื่องราวที่ 2 ศาลหลักเมือง ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของสนามหน้าเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
โอ้! ตายแล้ว เค้าปิดบูรณะห้ามไม่ให้เข้าไปในศาลหลักเมือง แต่ยังคงมีที่สำหรับไหว้สักการะจัดไว้ให้
ยัยตัวร้ายเคยมาแล้วเมื่อปี 2559 เลยนำรูปมาให้ชมกันค่ะ ยัยตัวร้ายว่าถ้าบูรณะเรียบร้อยแล้วน่าจะสวยมากแน่ๆ เลย ขนาดของเดิมๆ ก็สวยแล้วอะ
ศาลหลักเมืองประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง หลังกลางเป็นที่ประดิษฐานหลักเมือง ออกแบบคล้ายศิลปะวิชัย เรียกว่า ทรงเหมราชลีลา ส่วนอาคาร เล็กทั้งสี่หลังถือเป็นศาลบริวารสี่ทิศ เรียกว่าศาลจตุโลกเทพ ประกอบด้วยพระเสื้อเมือง ศาลพระทรงเมือง ศาลพระพรหมเมือง และศาลพระบันดาลเมือง
องค์เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ตะเคียนทองที่ได้มาจากภูเขายอดเหลือง อันเป็นภูเขาลูกหนึ่งในทิวเขานครศรีธรรมราช ในท้องที่ตำบลกระหรอ กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดความสูง 2.94 เมตร เส้นรอบวง 0.95 เมตร ลวดลายที่แกะสลัก ตั้งแต่ฐาน ซึ่งเป็นวงรอบเก้าชั้น มี 9 ลาย ส่วนบนของเสาเป็นรูปจุตคามรามเทพ (สี่พักตร์) หรือเทวดารักษามือง เหนือสุดเป็นเปลวเพลิงอยู่บนยอดพระเกตุ คือยอดชัยหลักเมือง รูปแบบการ แกะสลักจินตนาการจากความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเคยมีอิทธิพลทางศิลปกรรมในภาคใต้ และนครศรีธรรมราชแต่ครั้งโบราณ
หลังจากไหว้สักการะศาลหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้าน คู่เมืองเรียบร้อยแล้ว จะไปไหนต่อดีน้อ บอกทริคนิดนึงว่า เส้นถนนราชดำเนินทั้งเส้นมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งเส้นเลย ไม่ว่าจะเป็นวัดพระธาตุ กำแพงเมืองเก่า หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ เป็นต้น
อีกที่เลยที่เราจะไป วัดพระธาตุ อยู่เส้นถนนราชดำเนิน ทางเมืองนครได้ปิดเส้นทางหน้าวัดให้รถผ่านสัญจรได้ทางเดียว
วัดพระธาตุ หรือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นโบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายในวัดมีพระบรมธาตุเจดีย์ภายในบรรจุพระทันตธาตุ (ส่วนฟันของพระพุทธเจ้า)
วันที่ไป เค้ากำลังบูรณะพระบรมธาตุ ซึ่งปีที่แล้ว (2559) ก็ยังบูรณะเช่นกัน ตอนนี้ยังไม่เสร็จดีเลยค่ะ ประชาชนไม่ว่าทั้งคนเมืองนครเอง จังหวัดใกล้เคียงก็นิยมมาไหว้สักการะขอพรกัน มีการห่มผ้าธาตุด้วย แต่ปิดบูรณะ ก็เลยไม่สามารถขึ้นไปยังพระบรมธาตุได้
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เคยได้ยินกันใช่มั้ยคะ ยัยตัวร้ายก็ยังไม่เคยมาเลย เค้าว่ากันเป็นงานประเพณีที่จัดใหญ่มาก แล้วประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นแบบไหน ยังไง ยัยตัวร้ายนำบทความในวิกิพีเดีย th.wikipedia.org/wiki/ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ มาไขข้อข้องใจกันค่ะ
เรื่องราวที่ 3 ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ คือ การนำผ้าผืนยาวขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจีดย์ในวันสำคัญทางศาสนา ชาวนครได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินตามกำลังศรัทธา นำเงินที่ได้ไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเป็นแถวยาวนับพันหลา แล้วจัดเป็นขบวนแห่ผ้าขึ้นห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ผ้าที่ขึ้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์เรียกว่า “ผ้าพระบฎ” (หรือ พระบต) นิยมใช้สีขาว สีเหลือง สีแดง สำหรับผ้าสีขาวนิยมเขียนภาพเนื้อหาเกี่ยวกับพุทธประวัติ ตั้งแต่ประสูติ เสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองนครศรีธรรมราช แก่นแท้อยู่ที่การบูชาพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด โดยใช้องค์พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทน
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 คือ วันวิสาขบูชา เรียกว่า “แห่พระบฎขึ้นธาตุ” มีการเวียนเทียนรอบองค์พระบรมธาตุ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้มีการแห่ผ้าขึ้นธาตุ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 คือ วันมาฆบูชา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่อยู่ห่างไกล หรือไม่มีโอกาสกระทำพุทธบูชาในวันวิสาขบูชาได้มีโอกาสแห่ผ้าขึ้นธาตุในวันมาฆบูชาตามศรัทธาด้วย ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุของเมืองนครจึงมีปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันเพ็ญเดือน 3 (วันมาฆบูชา) และในวันเพ็ญเดือน 6 (วันวิสาขบูชา) สืบมาจนทุกวันนี้
ภายในวัดพระธาตุ มีเรื่อง…เขาเล่าว่า คือ พระแอด
เรื่องราวที่ 4 วิหารพระแอด หรือ วิหารพระมหากัจจายนะ ภายในวิหารพระมหากัจจายนะประดิษฐานอยู่ภายใน ชาวบ้านเชื่อกันว่า พระแอดเป็นพระศักดิ์สิทธิ์ ท่านสามารถดลบันดาลความสำเร็จสารพัด
เชื่อกันว่าหากใครปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดหลัง นำไม้ไปค้ำยันหลังพระแอดอาการปวดก็จะหายไป
และการขอลูก ใครมาขอจะได้ลูกตามคำขอ จะมาแก้บน โดยจะพบเห็นรูปเด็กภายในวิหารจำนวนมาก
เราย้อนกลับไปทางถนนราชดำเนินตรงไปยังแถวสนามกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราชไปวัดแจ้งวรวิหารกันค่ะ ซึ่งในวัดแจ้งวรวิหาร จะเป็นที่ประดิษฐานเก๋งจีน
เรื่องราวที่ 5 เก๋งจีน วัดแจ้งวรวิหาร ตั้งอยู่ ภายในวัดแจ้งวรวิหาร ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 23 ถนนราชดำเนิน ตำบลท่าวัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
เก๋งจีน ก่อสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประดิษฐานบัวบรรจุอัฐิของพระยานคร และเชื่อว่ารวมถึงอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอีกด้วย
เก๋งจีน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมุงกระเบื้องหลังคาจั่วแบบจีน หันหน้าไปทางทิศใต้ หน้าต่าง หรือช่องระบายอากาศเป็นรูปวงกลม ภายในวงกลมทำเป็นซี่กรง ประตูทางเข้าเป็นเครื่องไม้แกะลายฉลุเป็นลายจีน ด้านหน้าเก๋งมีซุ้มประตูทางเข้าประดับด้วยลายปูนปั้นรูปเทพร่าประกอบลายก้านขาด 2 ซุ้มบัว 2 องค์อยู่ภายในเก๋งจีน
ยัยตัวร้ายว่า เก๋งจีน ต้องไปรับการบูรณะ และประชาสัมพันธ์ เพราะยัยตัวร้ายมาก็เข้าไปสักการะข้างในก็ไม่ได้ ไม่มีคนเฝ้าอยู่ด้วย ตามจริงแล้วเก๋งจีนก็สวยในแบบฉบับจีนอยู่นะ ถ้าประชาสัมพันธ์ดีๆ น่าจะมีนักท่องเที่ยวมาสักการะกัน
รู้จักหนังลุงไหมเอ่ย คนใต้ชอบเรียกสั้นๆ หนังลุง คือ หนังตะลุง ยัยตัวร้ายจะพาไปแลหนังลุงกันที่พิพิธภัณฑ์หลังตะลุงสุชาติ
เรื่องราวที่ 6 พิพิธภัณฑ์หลังตะลุงสุชาติ ตั้งอยู่เลขที่ เลขที่ 10/18 ถนนศรีธรรมโศก ซอย 3 อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
เปิดทำการทุกวัน เวลา 08.30 – 17.00 น. เบอร์โทรติดต่อ 075-346394, 075-346515-6
พิพิธภัณฑ์หลังตะลุงสุชาติ เป็นพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงแห่งแรกของไทยที่เป็นแหล่งเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญของประเทศ
ภายในพิพิธภัณฑ์จัดมีโซนจัดแสดง ดังนี้
พิพิธภัณฑ์หนังตะลุง
ภายในจัดแสดงรูปหนังตะลุงโบราณในภาคใต้อายุมากกว่า 100 ปี รวมถึงรูปหนังตะลุงในภูมิภาคต่าง ๆ และรูปหนังตะลุงนานาชาติ ที่แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยนายหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน) พ.ศ.2549 เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์หนังตะลุงมีชีวิต
การจัดแสดงหนังตะลุง
โรงเชิดจะเป็นอาคารชั้นเดียว สามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 30 ที่นั่ง การจัดแสดงหนังตะลุงต้องโทรติดต่อมาล่วงหน้า เพื่อทางพิพิธภัณฑ์จะได้เตรียมเรื่องที่ใช้เล่นหนังตะลุง
ซึ่งเรื่องที่จะเล่นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เรื่องยาเสพติด มุกตลก ทุกการเล่าเรื่องจะเป็นภาษาใต้ทั้งหมด
บ้านศิลปินแห่งชาติ
เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ชั้นล่างจะเป็นการสาธิตการทำหนังตะลุง และของที่ระลึก และชั้นบนจัดแสดงตัวหนังตะลุง เครื่องดนตรีที่ใช้ในการเชิดหนังตะลุง และจัดแสดงการฉายหนังตะลุง
ตัวละครหนังตะลุงตัวพระ และตัวนาง
ไอ้เท่ง ตัวเอกของเรื่องที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในหนังตะลุง
ชั้นบนจะเป็นนิทรรศการหนังตะลุง จะมีหนังตะลุงที่ใช้แสดงมีทั้งชื่อ และประวัติของแต่ละตัว มีเครื่องเล่นดนตรีที่ใช้เล่นหนังตะลุง และยังมีจำลองโรงเชิดไว้ให้ชมอีกด้วย
เครื่องดนตรีที่ใช้เชิดหนังตะลุง เป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของภาคใต้
จำลองโรงเชิดหนังลุง จะคล้ายๆ เหมือนฉายหนังกลางแปลง มีเสื่อปูไว้นั่งไว้สำหรับชมหนังลุง
ด้านหลังฉากหนังตะลุง จะมีแผงหนัง และตัวละครของหนังตะลุง
พิพิธภัณฑ์หนังตะลุงชาติแห่งนี้ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยถึง 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลดีเด่น ประเภทแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมและโบราณสถาน ปี พ.ศ.2539 และรางวัลยอดเยี่ยมประเภทแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการเพื่อการเรียนรู้ ปี พ.ศ.2553
สถานที่ต่อไปตาม..เขาเล่าว่า ตอนนี้เป็นที่โด่งดัง ประชาชนจากทั่วสารทิศมักจะมาที่นี่ ขึ้นชื่อว่าขออะไรได้ดั่งสมหวังทุกประการ โดยเฉพาะโชคลาภ และการค้าขาย ที่ยัยตัวร้ายจะพาไปนั่น คือ “ไอ้ไข่ วัดเจดีย์”
เรื่องราวที่ 7 “ไอ้ไข่ วัดเจดีย์” ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ตำบลฉลอ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช
วัดเจดีย์ เดิมทีเป็นวัดร้าง เชื่อกันว่าสร้างมาเป็นเวลานับ 1,000 ปี มีเพียงเจดีย์โบราณเก่ารกร้างอยู่ตรงบริเวณที่กำลังสร้างโบสถ์ในปัจจุบัน จนเมื่อประมาณ พ.ศ.2500 มีการบูรณะวัดเจดีย์ขึ้นมาใหม่ มีพระเข้ามาอยู่ประจำ เป็นที่ปฏิบัติศาสนกิจของชาวบ้านใกล้เคียง และเป็นที่ประดิษฐานของ “พ่อท่าน” พระพุทธรูปเก่าแก่ที่อยู่มาตั้งแต่ยังป็นวัดร้าง
ไอ้ไข่วัดเจดีย์ หรือ ตาไข่วัดเจดีย์ คือ รูปไม้แกะสลักของเด็กชายอายุประมาณ 9-10 ขวบ เชื่อกันว่าเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ ณ วัดแห่งนี้ เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านในละแวกนี้ และจังหวัดในภาคใต้ จากความศรัทธาเชื่อกันว่า “ขอได้ไหว้รับ” โดยเฉพาะโชคลาภ และค้าขาย
ตำนานไอ้ไข่มีหลายเรื่องด้วยกัน บ้างก็ว่าไอ้ไข่ คือ วิญญาณเด็กที่ติดตามหลวงพ่อทวด เมื่อหลวงพ่อทวดธุดงค์มาถึงวัดร้างแห่งนี้ และรับรู้ด้วยญาณของท่านว่าที่นี้มีทรัพย์สินโบราณฝังอยู่ จึงให้วิญญาณดวงนี้เฝ้าดูแลปกปักษ์รักษาทรัพย์สินของแผ่นดิน อยู่ที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา ในขณะที่บางตำนานก็ว่า ไอ้ไข่ คือ เด็กลูกชาวบ้านแถวนั้นที่เคยวิ่งเล่นอยู่ในวัดตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นวัดโบราณ ต่อมาเด็กคนนั้นประสบอุบัติเหตุตกน้ำเสียชีวิต วิญญาณของเด็กน้อยคนนั้น ซึ่งผูกพันอยู่กับวัดก็สถิตย์ที่วัดแห่งนี้ตลอดมาชาวบ้านจึงเรียกเด็กที่ปรากฏร่างนั้นว่า “เด็กวัด” เมื่อเชื่อกันว่าไอ้ไข่ คือ วิญญาณดวงหนึ่ง แต่ไม่มีใครเคยเดือดร้อน เพราะวิญญาณดวงนี้ นอกจากการปรากฏร่างให้เห็นก็อาจจะมีการล้อเล่นกับผู้ที่มาค้างแรมในวัด ไอ้ไข่ จึงเป็นที่รักชองชาวบ้าน ใครมีเรื่องเดือดร้อน วัว ควาย หมู ข้าวของสูญหาย ก็มาจุดธูปบนบานขอให้ช่วยกันหา ซึ่งก็มักจะประสพผลเสมอมา
ข้อมูลจาก www.siamfreestyle.com
ด้วยชื่อเสียงของไอ้ไข่โด่งดังไปทั่วทุกสารทิศ เต็มไปด้วยผู้เลื่อมใสศรัทธา บ้างมาขอพร บ้างมาแก้บน ซึ่งของที่มาแก้บนจะเป็นรูปปั้นไก่ชน ชุดทหาร ของเล่นต่างๆ
โดยเฉพาะรูปปั้นไก่ และทหารจะมีจำนวนเยอะมาก เต็มไปทั่วบริเวณวัด
การแก้บนนอกจากจะนำรูปปั้นไก่ชน หรือของที่เราได้อธิฐานขอพรแล้ว ยังต้องจุดประทัดด้วย ซึ่งกองประทัดเป็นภูเขาย่อมๆ เลยก็ว่าได้
ไม่ได้เพียงแต่ไอ้ไข่ที่ประชาชนมากราบไหว้ขอพร ยังมีต้นตะเคียนยักษ์ที่ยืนต้นตาย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ตะเคียนพราย มักจะมาขอโชคลาภ เลขดังเลขเด็ด จากต้นตะเคียนพราย
พระอุโบสถหลังใหม่ ที่กำลังสร้าง มีรูปไก่ชนตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ
ไม่เพียงเท่านี้ ระหว่างทางที่เราเดินทางมาวัดเจดีย์ ก็จะรูปปั้นไก่ชน วางเรียงอยู่ตามข้างทาง
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อจากชื่อเสียงขอไอ้ไข่ ทำให้ใครๆ ที่มายังจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องแวะมาไหว้สักการะขอพร ขออะไรก็จะได้อย่างที่ขอ และมาแก้บนอย่างล้นลาม
จากสถานที่ตามตำนานเขาเล่าว่า สถานสิ่งศักดิ์ที่ชาวบ้านศรัทธา โบราณสถานที่มีเรื่องเล่ามานานนับร้อยปี และการได้เรียนรู้หนังตะลุง ไม่เพียงเท่านี้ เมืองนครศรี ยังมีประเพณีอีก 2 ประเพณี คือ
เรื่องราวที่ 8 ประเพณีสารทเดือนสิบ
เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ที่ได้รับอิทธิพลจากพราหมณ์ ผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชน และญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรก ที่ตนต้องจองจำอยู่ เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วันรับเปรต” หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ที่ชาวบ้านเรียกว่า “วันส่งเปรต”
การประกอบของประเพณีสารทเดือนสิบ จะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปี แต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะนิยมทำบุญกันมากคือ วันแรม 13-15 ค่ำ
การทำบุญทั้งสองครั้ง เป็นการทำบุญที่แสดงถึง ความกตัญญูต่อบุพการีผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยอุทิศส่วนกุศล ไปให้วิญญาณของบรรพบุรุษที่ตกอยู่ในเปรตภูมิ เป็นคติของศาสนาพราหมณ์ ที่ผสมในประเพณีของพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชน นิยมไปทำบุญ ณ วัดที่เป็นภูมิลำเนาของตน เพื่อร่วมพิธีตั้งเปรต และชิงเปรตอาจสับเปลี่ยนกันไปทำบุญ ณ ภูมิลำเนาของฝ่ายบิดาครั้งหนึ่ง ฝ่ายมารดาครั้งหนึ่ง จึงทำให้ผู้ที่ไปประกอบ อาชีพจากถิ่นห่างไกลจากบ้านเกิด ได้มีโอกาสได้กลับมาพบปะสังสรรค์ และรู้จักวงศาคณาญาติเพิ่มขึ้น
รูปประเพณีสารทเดือนสิบ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครศรีธรรมราช
เทศกาล มหาสงกรานต์แห่นางดาน หนึ่งเดียวในประเทศไทย
เรื่องราวที่ 9 ประเพณีแห่นางดาน
เป็นประเพณีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวาย หรือประเพณีโล้ชิงช้า ถือเป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง 3 องค์ มารอรับเสด็จพระอิศวร ทีจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ในช่วงเดือนยี่ของทุกปี เชื่อกันว่าเป็นการประสาทพรให้มีความสุขสบาย คุ้มครองบ้านเมืองให้ปลอดภัย
เทพที่อัญเชิญรับเสด็จประกอบด้วย
- พระอาทิตย์ พระจันทร์
- พระแม่คงคา
- พระแม่ธรณี
เทพดังกล่าวนี้ จารึก หรือแกะสลักลงบนแผ่นไม้ ชาวนครศรีธรรมราช เรียกไม้สลักดังกล่าวนี้ว่า “นางกระดาน” หรือ “นางดาน” เมื่อถึงวันพิธีจะอัญเชิญนางกระดานทั้ง 3 นี้มายังเสาชิงช้าในหออิศวร เพื่อรอรับพระอิศวรที่จะเสด็จเยี่ยมโลกมายังเสาชิงช้า
สำหรับพิธีแห่นางดานของนครศรีธรรมราช เคยใช้ฐานพระสยม เป็นจุดเริ่มต้นขบวนแห่ไปประกอบพิธี ณ หอพระอิศวร หอพระนารายณ์ ในเวลาพลบค่ำ ตั้งแต่วันขึ้น 7 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เพื่อต้อนรับพระอิศวร และวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 5 ค่ำ เพื่อรับพระนารายณ์
ส่วนพิธีพราหมณ์ “แห่นางดาน” ของนครศรีธรรมราชที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งหนึ่งนี้ คือ วันที่ 14 เมษายน มิใช่วันตามประเพณีพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนยี่ เทศบาลนครศรีธรรมราช ได้นำมาผนวกไว้กับวันสงการนต์ ซึ่งถือเป็นวันขึนปีใหม่ไทย เพื่อรำลึกถึงประเพณีคู่บ้านคู่เมืองที่ดี มีคุณค่าต่อบ้านเมือง
เทศกาลมหาสงกรานต์แห่นางดาน จะมีการแสดง แสง เสียง สื่อผสม อลังการนางดาน ตำนานเมืองนครฯ
องค์ประกอบที่สำคัญของพิธีต้อนรับ พระอิศวร หรือ ตรียัมพวาย มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ
พระยายืนชิงช้า
ซึ่งรับสมมุติว่าเป็นพระอิศวรนั้น เป็นประธาน ในพิธีพราหมณ์ จะนำกระดานชิงช้าซึ่งสมมุติว่าจะไปแขวนมารับพระยา แล้วนำพระยาไปที่โรงปะรำพิธี เวลานั่งในปะรำพิธี จะต้องนั่งยกเท้าขวาพาดเข่า ซ้ายเท้าซ้ายยันพื้นทำเหมือนพระอิศวรที่เสด็จ ลงมาและหย่อนเท้าลงมาข้างเดียว เพราะเกรงว่าถ้าหย่อนเท้าลงมาทั้งสองข้างโลกจะแตก
นาลิวันโล้ชิงช้า
ไปตามคตินิยม ที่ว่า เมื่อตอนที่พระอิศวรเสด็จลงมารักษาโลก ได้ให้พญานาคยื้อยุดระหว่าง เขาทั้งสองฝั่งมหาสมุทร ทดสอบดูว่าภูเขาจะโยกคลอนหรือไม่ เพื่อทดสอบว่า ดินอ่อนหรือไม่ ปรากฏว่าภูเขาไม่โยก แสดงว่าแผ่นดินโลกแข็งแรงดี เสาชิงช้า ทั้งสองข้างนั้นคือ ขุนเขาสองฝั่งมหาสมุทร
โลกบาลรำเสนงสาดน้ำเทพมนต์
จากการทดสอบภูเขาไม่โยก พญานาค ทั้งหลาย ก็โสมนัสยินดี ลงสู่สาครใหญ่เล่นน้ำเฉลิมฉลองกันเป็นการใหญ่ ขันสาคร คือ มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ซึ่งพญานาคพากันเล่นน้ำ รำเสนงสาดน้ำกัน นาลิวัน ซึ่งสวมหัวนาค หมายถึง พญานาค
สามารถเข้าไปดูพิธีแห่นางดานที่ ยัยตัวร้าย เคยได้รีวิวได้ที่ >>>> http://bit.ly/1U1GdgR
ทริปเที่ยวเมืองนครศรีธรรมราช ก็จบไปแล้ว กับ 2 วัน 1 คืน หวังว่าคงเที่ยวแบบจุใจเลยทีเดียวใช่ไหมเอ๋ย หมดเวลาท่องเที่ยวแล้ว ยัยตัวร้าย เดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยสายการบินนกแอร์ ซึ่งเที่ยวบินจาก นครศรีฯ – กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) มี 5 เที่ยวต่อวัน ยัยตัวร้ายเลือกกลับไฟท์เวลา 20.55 – 22.05 น. สามารจองตํ่วเครื่องบินและโปรโมชั่นที่เว็บไซต์ www.nokair.com หรือที่ call center 1318
เป็นครั้งแรกของยัยตัวร้ายเลยก็ว่าได้ ที่ได้เที่ยวนครศรีธรรมราชแบบจุใจเลยทีเดียว ไม่ว่าจะไปเที่ยวตามประวัติศาสตร์ ตามเขาเล่าว่า ตามรอยอารยธรรม เที่ยวด้วยมีความรู้ด้วย นี่ละคือ “นครศรีธรรมราช เมืองต้องห้ามพลาด” บ๊าย…บาย เมืองคอน ถ้ามีโอกาศจะได้กลับมาเยือนอีกครั้ง
สามารถสอบถามข้อมูลท่องเที่ยวได้ที่ เว็บไซต์ www.nakhonsiawesome.com และทางเฟสบุ๊ค นครศรีดี๊ดี นครศรีดีกว่าเดิม
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมรีวิวค่ะ สามารถพูดคุยกันได้ที่
Face Book : ยัยตัวร้าย สะพายกล้อง / Bloggertrip
IG : @bloggertripth
Leave a Reply