งานประเพณี แห่ช้างบวชนาค ไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว ประจำปี 2558

ทริปนี้ I am Devil ยัยตัวร้าย พาไปชม

“งานประเพณี แห่ช้างบวชนาคไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว ประจำปี 2558”

ณ ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

 

D7T_2684

 

มาทราบประวัติ ประเพณีแห่ช้างบวชนาค กันก่อนค่ะ

   

      ประเพณีแห่ช้างบวชนาค ไม่มีประวัติแน่ชัดว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ตามข้อสันนิษฐานแล้ว น่าจะได้อิทธิพลมาจากเรื่องพระเวสสันดรชาดก ในตอนที่พระเวสสันดรประสูตินั้นเป็นวันที่ได้ช้างเผือกสำคัญ คือ  “ช้างปัจจัยนาเคนทร์” ซึ่งสามารถดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นช้างคู่บารมี ของพระเวสสันดรอีกด้วย       การจัดให้นาคนั่งบนหลังช้าง แล้วแห่เป็นริ้วขบวนนั้น ก็จำลองเรื่องราวมาจากเรื่องราวของ   พระเวสสันดรในตอนทรงช้างปัจจัยนาเคนทร์กลับเมืองนั่นเอง หรือ อีกความเชื่อหนึ่งกล่าวว่า เกิดขึ้นจากตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าสอนให้พระภิกษุมุ่งปฏิบัติตนเพื่อจะนำไปสู่โลกอุดร หรือโลกกุตรธรรม (นิพพาน) แต่คนทั่วไปเข้าใจว่า อุดรหมายถึง         ทิศเหนือ ซึ่งสัญลักษณ์ทางทิศเหนือของชาวพวน คือช้าง ด้วยเหตุนี้ชาวพวนจึงนำช้างมาเข้าในพิธีแห่นาคบวชพระด้วย

ขอขอบคุณข้อมูล จาก lovelikejourney

 

งานประเพณีแห่ช้างบวชนาค หรือ ที่ชาวเมืองหาดเสี้ยวเรียกสั้นๆ ว่า

“ประเพณีบวชช้าง”

เป็นงานประเพณีที่จัดสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน นับการจัดงานครั้งนี้ 171 ปี

นับได้ว่าเป็นงานสำคัญ และเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว

เดิม วันแห่ในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 4 และบวชในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 4

ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวันแห่ วันที่ 7 เมษายน และวันบวช วันที่ 8 เมษายนของทุกปี

 

สำหรับในปีนี้ จัดขึ้นในวันที่ 7 – 8 เมษายน 2558

มีผู้เข้าอุปสมบท 18 ราย ช้างเข้าร่วมขบวน 18 เชือก

กำหนดการประเพณีแห่ช้างบวชนาคหาดเสี้ยว ประจำปี2558 

วันที่ 7 เมษายน 2558

07:00 พิธีบวงสรวงศาลเจ้าวัด หาดเสี้ยว
08:00 พิธีโกนผมนาค (บ้านเจ้าภาพ)
09:00 ทำขวัญนาค แต่งตัวนาค และแต่งช้าง
10:00 เคลื่อนขบวนนาค และช้างออกจากบ้านเจ้าภาพ มาที่วัดหาดเสี้ยว
12:00 พิธีเปิดงาน นาคทำพิธีในโบสถ์
12:30 ขบวนช้างออกจากวัด เดินผ่านตลาดสายหลัก อ้อมไปถนนสายหลังตลาด
15:00 ขบวนช้างข้ามแม่น้ำยม
16:00 ขบวนข้างกลับบ้านเจ้าภาพ
17:00 ทำพิธีบรรพชา ที่วัดหาดเสี้ยว

 

วันที่ 8 เมษายน 2558

07:00 ทำบุญ ตักบาตร เลี้ยงพระ เณร ที่บรรพชา อุปสมบทใหม่

09:00 เสร็จพิธี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เพจศรีสัชนาลัย

D7T_1767

 

ส่วนมากผู้ร่วมงานประเพณีจะแต่งกายด้วยชุดหม้อฮ่อม

ใครที่มาร่วมงานสามารถหาซื้อได้ เฉพาะเสื้อ 300 บาท ค่ะ

D7T_1773

 

I am Devil ยัยตัวร้าย มาที่วัดหาดเสี้ยว เพื่อมาเก็บภาพพิธีโกนหัวนาค

พอมาถึงวัดหาดเสี้ยว มีกลุ่มคุณป้า (ขอเรียกคุณป้านะคะ)

แต่งองค์ ทรงเครื่อง สวยงามมากค่ะ มาร่วมในงานประเพณีค่ะ

D7T_1781

 

ตามปกติ พิธีโกนหัวนาค จะทำตามบ้านเจ้าภาพ

(บ้านเจ้าภาพ คือ บ้านที่มีการบวชนาค ค่ะ)

ในวันงานประเพณีนี้ มีด้วยกันทั้งหมด 4 ราย ที่ทำการบวชนาค ณ วัดหาดเสี้ยว

D7T_1792

 

คุณพ่อ และคุณแม่ ของนาค จะทำการอาบน้ำก่อนจะโกนหัวนาคค่ะ

D7T_1795

 

หลังจากนั้นจะเป็นการโกนหัวนาคค่ะ

D7T_1798

D7T_1787

 

I am Devil ยัยตัวร้าย ได้มีโอกาสเก็บภาพโกนหัวนาคตามบ้านเจ้าภาพ

ซึ่งต้องขอขอบพระคุณสำหรับเจ้าภาพที่ให้เก็บภาพในครั้งนี้ค่ะ

เจ้าภาพท่านนี้บวชพร้อมกัน 2 ท่านค่ะ

D7T_1822

D7T_1823

 

เครื่องแต่งกายของนาค 

D7T_1886

 

เครื่องอุปสมบท เครื่องบวชพระ ตระเตรียมไว้สำหรับนาคทั้ง 2 คน

D7T_1891

D7T_1887

 

เหรียญโปรยทาน หรือกำพริก

D7T_1921

 

ร่วมถ่ายภาพครอบครัวของนาค

D7T_1895

 

เริ่มพิธีทำขวัญนาค

นาคทั้ง 2 ท่าน กราบขอขมา คุณพ่อ และ คุณแม่

D7T_1900

 

เข้าสู่พิธีทำขวัญนาค

D7T_1908

 

มาดูการแต่งตัวช้างกันบ้างค่ะ

น้องๆ ที่ร่วมแต่งตัวช้าง โดยการเขียนลวดลายบนตัวช้าง

มาจากมหาวิทยาลัยศิลปกรค่ะ

D7T_1972

 

เริ่มจากการเขียนลวดลายบนตัวช้างด้วยชอล์คเขียนกระดานดำค่ะ

แล้วลงสีสันต่างๆ ให้ กับช้าง

D7T_2019

 

ช้างแต่ละเชือก จะเขียนคำขวัญ คติ คำคมต่างๆ ตลอดจนคำหยอกล้อนาค หรือเจ้าภาพ

อย่างเช่นช้างเชือกนี้จะเขียนว่า “เกม หลานยายออ ลาบวช”

D7T_2000

 

กว่าจะวาดลวดลายให้ช้างแต่ละเชือกเสร็จ

ไม่ใช่งานง่ายเลยค่ะ เพราะช้างเค้าอยู่ไม่นิ่งค่ะ

ควานช้างต้องลาก ดุ จนน้องๆ ลงสีเสร็จค่ะ

D7T_2101

 

ควานช้างเริ่มแต่งตัวช้างกันค่ะ

โดยจัดแต่งผ้าคลุมหัวช้าง พร้อมผ้าปูลาดบนหลังช้าง

นำโซ่กระดิ่ง หรือกระดิ่งคล้องคอ หรือหลังช้าง

นำแพรพรรณ หรือด้ายขาวแดงผูกแต่งที่งาช้าง

ผ้าคลุมหัวจะเป็นสีตามวันเกิดของนาคค่ะ

D7T_2121

 

แต่งตัวช้างเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ สวย หล่อเชียวค่ะ

D7T_2138

 

เมื่อแต่งตัวช้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช้างแต่ละเชือกจะต้องไปรับนาค ตามบ้านเจ้าภาพ

ก่อนนาคจะขึ้นช้างต้องกราบขอขมาช้างก่อนค่ะ

D7T_2312

 

ทั้งควานช้างและญาติๆ ช่วยประคับประคองนาคขึ้นนั่งบนหลังช้างค่ะ

D7T_2318

 

จัดริ้วขบวนให้นาคนั่งบนคอช้างประนมมือ ถือสักกัจจัง และขันธ์ 5

โดยคณะญาติ และเพื่อนๆ นั่งบนหลังช้าง และกางสัปทานให้นาค

D7T_2337

 

D7T_2366

D7T_2191

 

เครื่องแต่งกายของนาค ประกอบด้วย ผ้านุ่ง ผ้าม่วง ผ้าไหม

สวมเสื้อกำมะหยี่ หรือเครื่องนุ่งห่มที่แพรวพราว

สวมเครื่องประดับต่างๆ เช่น เข็มขัด นาก เพชร พลอย

มีความหมายถึงความหลงใหลในความงามของทรัพย์ภายนอก

และพร้อมที่จะไปแสวงหาทรัพย์ภายใน (อริยทรัพย์)

สวมแว่นดำ มีความหมายว่า ยังเป็นผู้มืด เพราะยังไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัย

ศรีษะสวมเทริด หรือเรียกว่า กระโจม อันเป็นเครื่องทรงของพระอินทร์ 

และเป็นสัญลักษณ์หงอนนาค กระจกที่ติดสองข้างหูเพื่อไว้สำรวจตัวเอง

ระลึกถึงความหลังพร้อมที่จะสละ ประนมมือด้วยแผ่นหรือแป้นวงกลม

เรียกว่า “สักกัจจัง” แปลว่า เครื่องหมายแห่งความเคารพ

ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7-8 นิ้ว ด้ามเป็นรูปพญานาค ถือเครื่องประดับ

และเครื่องบูชาต่างๆ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียนเรียกว่า ขันธ์ 5

ร่มที่ใช้กางเป็นร่มใหญ่ (สัปทน) มีหลายสี เรียกว่า “จ้อง” หรือ “คันญู”

D7T_2207

D7T_2392

 

การจัดขบวนแห่ เจ้าภาพจะนำหมวกสาน หรืองอบพ่นสี เขียนชื่อนาค หรือคำหยอกล้อต่างๆ

เป็นของชำร่วยให้แก่ผู้ร่วมขบวนแห่เพื่อใช้กันแดด

ตามด้วยขบวนแตรวง หรือกลองยาว 

D7T_2362

 

ขบวนแห่แต่ละเจ้าภาพจัดเต็มทุกขบวนเลยค่ะ

D7T_2239

 D7T_2242

 

เคลื่อนขบวนแห่ช้างบวชนาคไปยังวัดหาดเสี้ยว

เพื่อร่วมพิธีเปิดงาน และนาคทำพิธีในโบสถ์ค่ะ

D7T_2225

 

เจ้าภาพและขบวนแห่ เริ่มทยอยเข้ามายังวัดหาดเสี้ยว

D7T_2487

 

D7T_2449

 

นาคทำพิธีในโบสถ์

DSC_0593 re

 

เมื่อนาคทำพิธีในโบสถ์เสร็จ นาคแต่ละรายกลับขึ้นมานั่งบนช้างค่ะ

D7T_2539

 

พิธีเปิดงานประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว ประจำปี 2558

D7T_2530

 

ขบวนแห่ช้างบวชนาคที่จัดอันดับไว้ ออกเดินทางจากวัดหาดเสี้ยว

เป็นริ้วขบวน ปีนี้ มีทั้งหมด 18 เชือก เดินผ่านตลาดสายหลัก และอ้อมไปถนนสายหลังตลาดค่ะ

D7T_2576

 D7T_2591

 

เมื่อขบวนแห่ แห่รอบเมืองแล้ว จุดสุดท้าย 

คือจุดไฮไลท์ของงานแห่ช้างบวชนาค คือ การข้ามแม่น้ำยม

D7T_2594

 

ข้ามแม่น้ำยม ช้างจะทยอยเดินลงทีละเชือกตามลำดับที่ได้จัดไว้ค่ะ

D7T_2602

 

ช้างเชือกทางขวา ของภาพ เรียกเสียงฮือฮากันเลยทีเดียวค่ะ

ด้วยอากาศค่อนข้างร้อน สงสัยช้างอยากเล่นน้ำ เลยมุดลงน้ำเลยค่ะ

เล่นเอานาค และผู้ที่อยู่บนหลังช้างลุ้นระทึกจะตกน้ำหรือเปล่า

D7T_2647

 

เมื่อช้างแต่ละเชือกข้ามแม่น้ำยมมาถึงอีกฝั่ง

ปกติถ้ามีบ้านเจ้าภาพอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำยม ช้างแห่นาคจะเดินขึ้นฝั่งไปเลยค่ะ

แต่ในปีนี้ อีกฝั่งไม่มีเจ้าภาพ เพราะฉะนั้นช้างต้องเดินข้ามกลับไปยังฝั่งเดิมค่ะ

D7T_2673

 

ช้างแต่ละเชือกทยอยเดินกลับค่ะ

D7T_2668

 

เก็บภาพขบวนแห่ช้างบวชนาคข้ามแม่น้ำยมได้เพียง 7 เชือก จากทั้งหมด 18 เชือก ค่ะ

เมื่อขึ้นฝั่งช้างแต่ละเชือกจะไปยังบ้านเจ้าภาพ แต่ละบ้านค่ะ

ช่วงเวลา 17.00 น. จะมีการทำพิธีบรรพชา ที่วัดหาดเสี้ยว

และในวันที่ 8 เมษายน จะร่วมทำบุญ ตักบาตร เลี้ยงพระ เณร ที่บรรชา อุปสมบทใหม่ค่ะ

D7T_2684

ถือว่างาน “ประเพณีแห่ช้างบวชนาค ไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว”

เป็นการเริ่มต้น งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ของจังหวัดสุโขทัยค่ะ

 

ขอขอบข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตสุโขทัย

 

I am Devil ยัยตัวร้าย ขอขอบคุณพี่ๆ ช่างภาพ

ที่ชวนมาร่วมงานประเพณีแห่ช้างบวชนาค ไทยพวน บ้านหาดเสี้ยวในครั้งนี้ด้วยค่ะ

ปกติ I am Devil ยัยตัวร้าย ไม่ค่อยได้ไปเก็บภาพงานประเพณี หรือไม่เคยไปเลยก็ว่าได้ค่ะ

ถือว่าเป็นครั้งแรกเลยค่ะ เป็นประเพณีที่ประทับใจมากๆ ค่ะ

ชาวบ้านหาดเสี้ยวแต่ละคนก็น่ารักค่ะ เป็นกันเอง และใจดีมากค่ะ

I am Devil ยัยตัวร้าย ต้องขอขอบพระคุณ บ้านเจ้าภาพ นาค นายอนุพงศ์ เขียนทอง

และ ด.ช.วันจักรี เชาวนปรีชา ที่ให้เข้าไปเก็บภาพค่ะ 

DSC_0671 re

ปีหน้า ถ้า I am Devil ยัยตัวร้าย ได้มีโอกาส จะกลับมาร่วมงานอีกครั้งค่ะ

 

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมรีวิวค่ะ สามารถพูดคุยกันได้ที่

Face Book : I am Devil ยัยตัวร้าย

IG : @bloggertripth

Twitter : @iamdevilth

Share Button
Leave a Reply