ยัยตัวร้าย ขับรถออกมานอกตัวเมืองสงขลา มุ่งหน้าไปยังอำเภอระโนด เพื่อไปไหว้พระขอพรที่ “วัดเจดีย์งาม”
วัดเจดีย์งาม อยู่ริมถนนทางหลวง สงขลา – นครศรีธรรมราช สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ที่ตั้ง : บ้านเจดีย์งาม หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
เข้ามายังบริเวณวัด ซ้ายมือจะเจอกับศาลาโรงธรรม
ขวามือจะเป็นพระอุโบสถ และเจดีย์มหาธาตุ
จำลองเรือสุพรรณหงส์ อยู่บริเวณด้านข้างพระอุโบสถ
พระอุโบสถ
พระอุโบสถหลังนี้ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบทรงไทย มีใบระกา ช่อฟ้า หางหงส์ มีพาไลหน้า – หลัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสูงชั้นเดียว โครงสร้างหลังคาเป็นไม้ มุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสี
วัดเจดีย์งามมีความสำคัญกับชาวบ้านมาก สมัยก่อนไม่มีโรงเรียน ชาวบ้านจะนำบุตรหลานไปฝากไว้กับพระที่วัด เพื่อได้ศึกษาหาความรู้ ซึ่งใช้ศาลาการเปรียญ และศาลาบาตรของวัดเป็นที่ร่ำเรียน วัดเจดีย์งามจึงเป็นศูนย์กลางชุมชนในด้านการศึกษา เมื่อมีนักเรียนมากขึ้น พระครูเผือก คนธฺโร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระเจดีย์งาม พระมหาเจริญศักดิ์ พระลูกวัด และชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างอาคารเรียนหลังแรกขึ้นโดยใช้งบประมาณของทางวัดเอง จึงเป็นอาคารเรียนหลังแรกในย่านบ้านเจดีย์งาม ปัจจุบันถูกรื้อถอนแล้ว (รื้อถอนเมื่อ พ.ศ. 2551 เพราะชำรุดทรุดโทรม)
มณฑป
ภายในมณฑปประดิษฐานรูปหล่อเหมือน พระครูเผือก คนฺธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์งาม ได้อัญเชิญรูปหล่อเหมือน ประดิษฐานในมณฑป เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552
ประวัติ วัดเจดีย์งาม
วัดเจดีย์งาม หรือ วัดพระเจดีย์งาม สร้างขึ้นในสมัยใดยังไม่แน่ชัด น่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย เนื่องจากลักษณะสถาปัตยกรรมขององค์เจดีย์ น่าจะมีเค้าว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพุทศตวรรษที่ 1 -187 ช่างมาได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นทรงลังกา เข้าใจว่าเป็นไปตามแบบแผนรูปแบบเจดีย์ที่พระอโนมทัสสีนำมาจากลังกา ในแผนที่ภาพกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงในสมัยอยุธยา เรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดพระไจดีงาม” เป็นวัดที่ขึ้นกับวัดเขียนบางแก้ว คณะป่าแก้ว เมืองพัทลุง
มณฑป เป็นแบบทรงเจดีย์ 5 ยอด การก่อรูปหลังคาด้วยอิฐก่อเป็นทรงเจดีย์ โดยกึ่งกลางของแต่ละด้านทั้ง 4 เหมือนหลังคาซุ้มทิศ ก่อรูปเจดีย์ขนาดเล็กประดับอีกด้านละองค์ บานประตูเป็นรูปเทพนม มีรูปปั้นช้างคู่ ตั้งอยู่บันไดทางขึ้นด้านหน้า
หอไตร
สมัยก่อน ชุมชนบ้านเจดีย์งาม ไม่มีน้ำประปาใช้ และแหล่งน้ำดื่มหายาก ชาวบ้านได้ใช้น้ำในบ่อวัดพระเจดีย์งาม นำไปในชีวิตประจำวัน พระอาจารย์เฉลิม ชุติวณฺโณ ท่านเป็นพระนักพฒนา เป็นผู้ริเริ่มสร้างประปาหมูบ้านขึ้นมา เมื่อ พ.ศ. 2515 ทำให้ชาวบ้านมีน้ำสะอาดไว้ใช้
สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัดเจดีย์งาม ได้แก่ เจดีย์พระมหาธาตุ และวิหารพระโพธิสัตว์
วิหารพระโพธิสัตว์
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์พระมหาธาตุ ฐานเดิมก่อด้วยอิฐดินเผา และอิฐปะการัง ไม่สอปูน ขนาดกว้าง 7.80 เมตร ยาว 14.20 เมตร ตามหนังสือกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุง
ภายในวิหารพระโพธิสัตว์ ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ ชาวบ้านเรียกกันว่า “พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย”
เจดีย์พระมหาธาตุ
เจดีย์พระมหาธาตุ เป็นเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐปะการังทั้งองค์ เรียงอิฐแบบไม่สอปูน และไม่มีกรอบ ซึ่งเทคนิคดังกล่าวเป็นเทคนิคของช่างศรีวิชัย ฐานเจดีย์แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2528 บูรณะปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 โดย สำนักศิลปกรที่ 13 สงขลา กระทรวงวัฒนธรรม
เจดีย์พระมหาธาตุ มีหลักฐานปรากฏว่า มีองค์พระเจดีย์องค์ใหญ่ เป็นโบราณสถานที่สำคัญคู่กับวัด และจากลักษณะศิลปสถาปัตยกรรมขององค์พระเจดีย์ น่าจะสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 ครั้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 22 ตรงกับสมัยของสมเด็จพระนเรศวร สร้างในสมัยศรีวิชัย มีการสร้างเดีย์บริวารล้อมรอบเจดีย์องค์ใหญ่ ตามคติพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ส่วนรอบเจดีย์องค์ใหญ่มีเจดีย์ทิศรูปทางระฆังคว่ำ ก่อด้วยอิฐปะการังจำนวน 8 องค์ แทนมรรค 8 และเจดีย์ทิศบนฐานทักษิณาวรรต 4 องค์ หมายถึง อริยสัจ 4
พระเจดีย์มหาธาตุ
องค์เจดีย์เดิมสันนิษฐานว่าเป็นแบบศรีวิชัยอย่างพระบรมธาตุไชยา และเปลี่ยนเป็นแบบลังกา คือ แบบโอคว่ำอย่างเดียวกับพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช แต่ยังมีอิทธิพลศิลปะศรีวิชัยให้เห็น คือ การก่อสร้างเจดีย์บริวารล้อมรอบเจดีย์องค์ใหญ่ ฐานเจดีย์มีลักษณะ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 8.20 เมตร ยาว 12.20 เมตร สูง 20 เมตร มีบันไดทางขึ้นทางทิศใต้
เจดีย์ใหญ่ มีพระพุทธรูปก่อล้อมรอบเจดีย์ เจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนสูง ตั้งแต่พื้นดินตลอดยาวประมาณ 18 วา ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 7 วา องค์พระเจดีย์ก่อสร้างด้วยหินปะการังล้วนทั้งองค์ ตั้งแต่ฐานถึงยอด ปล้องไฉนก็สกัดหินปะการังเป็นวงกลมวางซ้อนกันขึ้นไป มีปล้องไฉนจำนวน 59 ปล้องที่ยอดพระเจดีย์
วัดเจดีย์งาม
เป็นวัดที่สำคัญในชุมชนบ้านเจดีย์ และชุมชนใกล้เคียง ภายในมีมณฑปประดิษฐานรูปหล่อเหมือน พระครูเผือก คนฺธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดเจดีย์งาม ยังมีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ เจดีย์พระมหาธาตุ และวิหารพระโพธิสัตว์ และกรมศิลปกรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2528
อุปกรณ์ที่ใช้บันทึกภาพ
Body : Fujifilm X-T10
Lens : Fujinon Lens XF 10 – 24 mm F4 R OIS
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชมรีวิวค่ะ สามารถพูดคุยกันได้ที่
Face Book : ยัยตัวร้าย สะพายกล้อง / Bloggertrip
IG : @bloggertripth
Twitter : @iamdevilth
Leave a Reply